การศึกษาข้อมูลและวางแผนปลูกพืช

ในการปลูกพืช ผู้ปลูกควรมีการวางแผนการปลูกพืชก่อนทุกครั้งว่าจะปลูกพืชอะไร พืชประเภทไหนที่จะปลูก มีวิธีการปลูก ปฏิบัติบำรุงรักษาอย่างไร เมื่อปลูกได้ผลผลิตแล้ว มีวิธีการจัดการผลผลิตที่ได้อย่างไรจึงจะคุ้มค่าต่อการลงทุน และบรรลุวัตถุประสงค์ที่วางไว้ ผู้ปลูกจะต้องศึกษาหาข้อมูลในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้เข้าใจอย่างแท้จริง เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาวางแผนและดำเนินการผลิตพืชได้อย่างถูกต้องเหมาะสมกับสภาพท้องถิ่นของตนเอง

๑. แนวทางศึกษาค้นคว้าข้อมูลในการผลิตพืช
เมื่อตัดสินใจที่จะปลูกพืชชนิดใดแล้ว ผู้ปลูกต้องศึกษาข้อมูลการปลูกพืชที่มีความเหมาะสมกับปัจจัยการผลิตที่ตนมีอยู่ ประเด็นที่เป็นแนวทางศึกษาค้นคว้าข้อมูลการผลิตพืช ได้แก่ ชนิดของพืชที่จะปลูก วิธีการปลูก การปฏิบัติบำรุงรักษา ความต้องการของตลาดในท้องถิ่น งบประมาณที่ใช้ในการลงทุน การจัดการผลผลิต การแปรรูปผลผลิต และการจัดจำหน่าย ปัจจุบันมีแหล่งค้นคว้า ข้อมูลการผลิตพืช ที่ผู้ปลูกสามารถปฏิบัติได้หลายวิธีขึ้นอยู่กับความสะดวกในการหาข้อมูลแต่ละท้องถิ่น ดังนี้

๑) สังเกตและสำรวจสภาวะความต้องการของตลาดในท้องถิ่น ปฏิบัติได้โดยการออกสำรวจหาข้อมูล ความต้องการของตลาดในท้องถิ่นเกี่ยวกับการผลิตพืช ว่าช่วงไหนต้องการพืชชนิดใด พืชชนิดใดมีช่วงราคาสูงในเดือนอะไร ตลาดต้องการพืชชนิดใดประมาณวันละกี่กิโลกรัม ในตลาดมีผู้ผลิตรายอื่นอยู่หรือไม่ มีผู้ผลิตพืชชนิดนี้ในท้องถิ่นจำนวนกี่ราย สภาพปัญหาของผู้ผลิตรายอื่นๆ มีอย่างไร เป็นต้น นอกจากสำรวจสภาวะการทางตลาดแล้ว ผู้เริ่มลงมือผลิตรายใหม่ควรสำรวจและสังเกตสภาพสิ่งแวดล้อมที่เป็นปัจจัย และผลกระทบต่อการปลูกพืชชนิดนั้น ๆ ด้วย เช่น สภาพดิน อุณหภูมิ แสงสว่าง แหล่งน้ำที่ใช้ปลูกพืช เมื่อสำรวจได้ข้อมูลมาแล้วจึงวางแผนการผลิตพืชให้เหมาะสมกับปัจจัยต่าง ๆ ที่มีอยู่ต่อไป

๒) ศึกษาค้นคว้าข้อมูลจากหน่วยงานของรัฐ หน่วยราชการที่มีบทบาทและหน้าที่ ในการให้ความรู้ด้านการส่งเสริมเผยแพร่ความรู้ด้านวิชาการเกษตรมีหลายแห่งในท้องถิ่นใกล้บ้าน หรือโรงเรียนในชุมชน เช่น ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยี ทางการเกษตรประจำตำบล หรือประจำหมู่บ้านที่เราอยู่ โดยมีเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรคอยให้คำแนะนำแก่เกษตรกรและบุคคลทั่วไปที่มาใช้บริการ ซึ่งเราเรียกว่า เกษตรตำบล ในระดับอำเภอก็มีเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอถ้าต้องการทราบข้อมูลเกี่ยวกับดินและปุ๋ย สามารถปรึกษาได้ที่สถานีพัฒนาที่ดิน ประจำจังหวัด หรือถ้าต้องการทราบผลการวิจัยการผลิตพืชในท้องถิ่น สามารถขอข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ สถานวิจัยพืชสวนที่ตั้งอยู่ในจังหวัด ที่เราอยู่หรือในจังหวัดใกล้เคียง สถานีวิจัยพืชสวนนี้มีหน้าที่ ทำการทดลอง วิจัยเกี่ยวกับพืชในท้องถิ่น ที่เป็นพืชหลักในท้องถิ่นอยู่แล้วนอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานด้านการศึกษาเกษตรที่สามารถหาข้อมูลการผลิตพืชได้อีก เช่น วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี คณะเกษตรศาสตร์ ของสถาบันราชภัฏต่างๆ หรือ มหาวิทยาลัยทุกมหาวิทยาลัยในภูมิภาคซึ่งจะมีคณะเกษตรอยู่ สำหรับหน่วยงานราชการส่วนกลางที่สามารถขอข้อมูลและเอกสารเผยแพร่ทางการเกษตรได้ฟรี เช่น ที่กองเกษตรสัมพันธ์ กรมส่งเสริมการเกษตร เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร และที่สำคัญนักฝึกอบรมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์บางเขน กรุงเทพมหานคร เป็นต้น

๓) ศึกษาค้นคว้าข้อมูลจากหน่วยงานภาคเอกชน ปัจจุบันองค์การภาคเอกชนหลายแห่งได้ดำเนินธุรกิจการเกษตร เช่น จำหน่ายปุ๋ย เมล็ดพันธุ์ เคมีภัณฑ์การเกษตร อุปกรณ์การเกษตร หรือ รับซื้อผลผลิตทางการเกษตรเพื่อนำไปแปรรูป ตลอดจนเอกชนรายย่อยต่างๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมทางเกษตรมากขึ้น ตัวอย่างเช่น บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์หรือซีพี บริษัทเจียไต๋ ส่งเสริมการเกษตร บริษัทซิลลิค บริษัทไบเออร์ไทยกำจัด ซึ่งบริษัทเหล่านี้เป็นบริษัทส่งเสริมการขายเคมีเกษตรและเครื่องมือเกษตรต่างๆ และดำเนินการวิจัยการใช้ผลิตภัณฑ์ในประเทศไทยด้วย ทำให้มีข้อมูลการปลูกพืชต่าง ๆ ในทุกภูมิภาค สามารถติดต่อขอข้อมูลได้ เช่น แผ่นพับ จุลสาร วารสาร บทความทางการวิจัย แผ่นปลิว เป็นต้น แต่ข้อมูลจากหน่วยงานภาคเอกชนอาจมีข้อจำกัดอยู่บ้าง เพราะส่วนใหญ่เป็นข้อมูลเพื่อส่งเสริมการขายผลิตภัณฑ์ของบริษัท ดังนั้น ก่อนนำข้อมูลมาใช้ ควรปรึกษาผู้รู้เสียก่อนและพิจารณาอย่างรอบคอบ

๔) ข้อมูลจากสื่อสารมวลชนและสื่อสิ่งพิมพ์ เนื่องจากประชากรประมาณ ๖๐ เปอร์เซนต์ ของประเทศประกอบอาชีพเกษตรกรรมทั้งปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ สื่อสารมวลชนประเภทต่าง ๆ ทั้งวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์รายวัน วารสาร นิตยสาร จึงมีรายการหรือคอลัมน์เกี่ยวกับการเกษตรประชาสัมพันธ์ให้เราทราบเป็นประจำทุกวัน เช่น ข่าวเกษตรกร ทางช่อง ๗ ทุกเช้าจะมีรายการราสินค้าเกษตรด้านพืชผัก ผลไม้ พืชไร่ ข้าว และเนื้อสัตว์ทำให้เราได้รู้ความเคลื่อนไหวด้านราคาทุกวัน นอกจากนี้รายการโทรทัศน์ เช่น ช่อง ๕ จะมีรายการเกษตรศาสตร์นำไทย คลินิกเกษตร ทำกินบนถิ่นไทย ช่อง ๙ รายการลุงยุ้ยลุยสวนผู้ใหญ่บ้านดำดี เกษตรติดดาวเบิกฟ้าเกษตรกรไทย ปศุสัตว์พัฒนา ช่อง ๑๑ รายการพลิกฟื้นคืนชีวิตเกษตรกรไทย เมืองไทยเมืองเกษตร เกษตรก้าวหน้า ศาลาริมสวน กลับสู่ธรรมชาติ มิตรชาวกุ้ง และทางสถานีโทรทัศน์ ITV จะมีรายการเพื่อเกษตรไทย เกษตรลูกทุ่ง มรดกดิน เป็นต้น ส่วนสื่อทางวิทยุต่างๆ เช่น สถานีวิทยุมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเป็นสถานีวิทยุการเกษตรที่เผยแพร่ความรู้ทางการเกษตรทุกสาขา มีเครือข่ายถ่ายทอดสัญญาณไปทั่วทุกภูมิภาค ได้แก่จังหวัดเชียงใหม่ ขอนแก่น และสงขลา รายการที่น่าสนใจ เช่น รายการตอบปัญหาการเกษตร ห้องสมุดเกษตร เพื่อนเกษตร ส่วนสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ของกรมประชาสัมพันธ์มีรายการเพื่อนเกษตรกร และราคาสินค้าเกษตร เพื่อเป็นข้อมูลข่าวสารให้เกษตรกรทั่วประเทศได้รู้ภาวะราคาพืชผลเกษตรทุกวัน ด้านสื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ ที่ให้ข้อมูลความรู้ทางการเกษตร เช่น จากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ซึ่งมีคอลัมน์เหลือกินเหลือใช้ แวดวงเกษตร รู้ไว้ได้ประโยชน์ และคอลัมน์ประจำของชมรมถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร หนังสือพิมพ์ไทยรัฐซึ่งมีคอลัมน์หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน ทันโลก เกษตรบนแผ่นกระดาษ รู้ไว้ใช่ว่า เป็นต้น นอกจากนี้ยังมืสื่อสิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือด้านวิชาการเกษตร เช่น วารสารรายสัปดาห์ รายปักษ์อีกหลายฉบับ ออกวางจำหน่ายตามแผงหนังสือทั่วไปในชุมชน ซึ่งนำเสนอความรู้ด้านเทคโนโลยี การผลิตพืชทางเกษตรสมัยใหม่ ตลอดจนจุลสาร แผ่นพับ เอกสารเผยแพร่ของกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งพิมพ์เผยแพร่ฟรีโดยไม่คิดมูลค่า

๕) ข้อมูลจากผู้รู้และภูมิปัญญาท้องถิ่น ได้แก่ ผู้ที่มีความรู้ ความชำนาญ มีประสบการณ์ในการปลูกพืช เช่น เจ้าของไร่ เจ้าของสวนผู้ที่ประกอบอาชีพธุรกิจการเกษตรตลอดจนครูเกษตรและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีหน้าที่ส่งเสริมอาชีพเกษตรในท้องถิ่น ซึ่งบุคคลเหล่านี้มีความสำคัญที่สามารถให้ข้อมูลการปลูกพืชในท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี เพราะคลุกคลีและสัมผัสอาชีพการเกษตรมาตลอดชีวิต ย่อมมีความรู้ความชำนาญเข้าใจปัญหาและสามารถแนะนำ ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ด้านการปลูกพืชได้

๖) ข้อมูลเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการเกษตร เป็นข้อมูลที่สามารถค้นคว้าได้จากเครือข่ายระบบสารสนเทศ หรืออินเทอร์เน็ต จากเว็บไซด์ต่าง ๆ ภายในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีทั้งเว็บไซด์ส่วนบุคคล องค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน นำข้อมูลเกี่ยวกับการปลูกพืชเผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงจำนวนมาก ช่วยให้ประหยัดเวลาค่าใช้จ่าย รวมทั้งได้ข้อมูลที่ทันสมัยเพราะมีการปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันตลอดเวลา

เว็บไซด์ทางเกษตรที่น่าสนใจ มีดังนี้
www.thai.net/wannawath เป็นเว็บไซด์ข้อมูลเกี่ยวกับดินและชีวอินทรีย์ พร้อมเกร็ดความรู้เกี่ยวกับดิน พืช สัตว์ และวิถีชีวิตเกษตรไทยแบบยั่งยืน นอกจากนี้ยังสามารถเชื่อมต่อ (Link) ไปยังฐานข้อมูลเกษตรได้ทั่วประเทศ
www.ipmthailand.org เป็นเว็บไซด์โครงการป้องกันและกำจัดศัตรูพืช โดยใช้วิธีผสมผสาน ของกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สามารถสอบถามข้อมูลได้ที่โทรศัพท์ ๐-๒๕๗๙-๙๖๕๔-๕๕ ในเวลาราชการ
http://thaifarmer.oae.go.th เป็นเว็บไซต์เครือข่ายเกษตรกรไทย มีข้อมูลข่าวสารการเกษตรของเกษตรกรทั่วประเทศไทยที่ประสบความสำเร็จในอาชีพ
http://medplant.mahidol.ac.th เป็นเว็บไซด์ของหน่วยบริการข้อมูลสมุนไพร ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
๒.การวางแผนผลิตพืช
การวางแผนจัดการปลูกพืช เป็นการกำหนดวัตถุประสงค์ เป้าหมาย ขั้นตอน วิธีการดำเนินงานตั้งแต่เริ่มต้นปลูกพืชจนถึงการใช้ประโยชน์ของพืชที่ผลิตได้ โดยมีความมุ่งหวังให้การปลูกพืชได้รับผลสำเร็จ คุ้มค่าต่อการลงทุนแนวทางในการวางแผนจัดการผลิตพืช มีขั้นตอนดังนี้

๑) กำหนชนิดพืชและแนวทางการใช้ประโยชน์ หลังการทำการสำรวจสภาวะความต้องการของตลาดในท้องถิ่นและค้นคว้าหาข้อมูลพืชที่จะผลิตแล้ว จึงถึงขั้นตอนการตัดสินใจกำหนดชนิดพืชที่จะปลูก ซึ่งควรคำนึงถึงฤดูกาลและสภาพพื้นที่ว่าเหมาะสมกับลักษณะนิสัยของพืชหรือไม่ มีสภาพปัจจัยต่าง ๆ เหมาะแก่การเจริญเติบโต มีปัญหาจากแมลงศัตรูพืชน้อยจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติบำรุงรักษา เพื่อลดต้นทุนการผลิต ส่วนการใช้ประโยชน์ของผลผลิตพืช ผู้ปลูกควรกำหนดวัตถุประสงค์การผลิตก่อน ว่าเมื่อผลิตแล้วนำไปบริโภคในครัวเรือนหรือผลิตเพื่อการจำหน่ายและมีช่องทางการตลาดมากน้อยเพียงใด ผู้ผลิตควรตอบคำถามเหล่านี้ให้ได้ เช่น ผลิตพืชชนิดนี้แล้วจะขายให้ใคร ขายที่ไหน ขายเมื่อไหร่ ผลิตที่ขายมีจำนวนเท่าใด ถ้าเรากำหนดแนวทางการใช้ประโยชน์ผลผลิตพืชที่ปลูกชัดเจนแล้ว ทำให้ผลิตสามารถวางแผนเตรียมการผลิตไว้ล่วงหน้า ลดความเสี่ยงต่อภาวะขาดทุนได้เป็นอย่างมาก

๒) กำหนดพื้นที่เพาะปลูกพืช โดยผู้ผลิตควรพิจารณาพื้นที่ที่ใช้ปลูกให้เหมาะสมกับพืชที่ปลูก เช่น จะปลูกพืชชนิดใด จำนวนพื้นที่กี่ไร่ ปรับสภาพพื้นที่ เก็บซากวัชพืช หิน กรวดขนาดใหญ่ ออกจากพื้นที่ เพื่อความสะดวกในการใช้เครื่องมือ อุปกรณ์การเกษตร ถ้าในพื้นที่เดียวกันมีการปลูกพืชหลายชนิดควรจัดระบบการปลูกพืช ให้หมุนเวียนตามหลักการใช้ประโยชน์จากที่ดินให้มีประสิทธิภาพมากที่สุดและยังช่วยป้องกันกำจัดศัตรูพืชด้วย

๓) การจัดทำตารางการปฏิบัติงาน เป็นการกำหนดปฏิทินการปฏิบัติงานผลิตพืชไว้ในแผนดำเนินการว่าแต่ละวันจะทำอะไรบ้าง กำหนดรายการปฏิบัติ ผู้รับผิดชอบงานในตารางปฏิบัติงานควรระบุเวลาขั้นตอนการปฺฏิบัติงานตั้งแต่การเตรียมดิน การเตรียมพันธุ์พืช การเพาะเมล็ด การย้ายปลูก การให้ปุ๋ย การเก็บเกี่ยวและจัดจำหน่าย

๔) การเตรียมทุนและแรงงานที่ใช้ในการผลิตพืช ปัญหาหนึ่งที่ผู้ผลิตพืชมักประสบอยู่ คือ ปัญหาเรื่องเงินทุน และแรงงานไม่เพียงพอ เพื่อป้องกันปัญหาและไม่ให้มีอุปสรรคระหว่างลงมือผลิตพืช ทำให้การดำเนินงานไม่ประสบผลสำเร็จ ดังนั้นควรมีแผนการใช้เงินทุนและแรงงานอย่างละเอียดถี่ถ้วน ว่าจะหาเงินทุนมาจากไหน ใช้แรงงานเท่าไหร่ จึงจะเหมาะสมกับสภาพงาน หรือใช้แรงงานภายในครัวเรือน เป็นต้น

๕) การเตรียมพันธุ์พืช วัสดุอุปกรณ์การผลิตพืช ผู้ผลิตพืชควรจัดเตรียมพันธุ์พืชที่จะปลูกให้มีปริมาณเหมาะสมกับพื้นที่ปลูก และควรเป็นพันธุ์พืชที่มีคุณภาพ ถูกต้องตามสายพันธุ์ มีความต้านทานโรคและแมลงศัตรูพืช ส่วนวัสดุอุปกรณ์การผลิตพืช เช่น ปุ๋ย สารเคมีเกษตร เครื่องมือที่ใช้เตรียมดินปลูกพืช เครื่องมือปฏิบัติบำรุงรักษาพืชและเครื่องมือที่ใช้เก็บเกี่ยวผลผลิต เครื่องมือแปรรูปผลผลิต ซึ่งผู้ผลิตควรมีการจัดเตรียมไว้ให้เพียงพอกับขนาดของกิจการและแผนดำเนินการที่จัดวางไว้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น